ชื่อ : สันพร้าหอม

ชื่อสามัญ –

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eupatorium fortunei Turcz.

ชื่อวงศ์ : ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าเสือมอบ (ราชบุรี, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี), เกี๋ยงพาใย (ภาคเหนือ), ซะเป มอกพา หญ้าลั่งพั้ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พอกี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หลานเฉ่า เพ่ยหลาน (จีนกลาง), ผักเพี้ยฟาน, ส่วนกรุงเทพฯ เรียก “สันพร้าหอม”

ลักษณะ

ต้นสันพร้าหอม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง มีอายุได้หลายปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 70-120 เวนติเมตร โคนต้นเรียบเป็นมัน เกลี้ยง ตามลำต้นเป็นร่อง แต่จะค่อนข้างเกลี้ยงเล็กน้อย
รากแก้วใต้ดินแตกแขนงมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนและชุ่มชื้น ความชื้นปานกลาง มีแสงแดดส่องปานกลาง
พบขึ้นบริเวณตามหุบเขาหรือลำธาร และพบปลูกมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน

 

ใบสันพร้าหอม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร
และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว หลังใบมีขนปกคลุม เส้นใบคล้ายรูปขนนก เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นหอม ใบบริเวณโคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าและแห้งง่าย

 

ดอกสันพร้าหอม ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น คล้ายซี่ร่ม ช่อดอกยาวได้ประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ก้านหนึ่งมีประมาณ 10 ช่อ เรียงติดกัน 2-3 แถว
แถวด้านนอกมีขนาดสั้นกว่าแถวด้านใน ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกประมาณ 4-6 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีสีแดงหรือสีขาว ดอกมีขนาดเล็ก ดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร
เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดง ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ใจกลางดอกผลสันพร้าหอม
ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานแคบหรือรูปทรงกระบอก ผลเป็นสีดำ มีสัน 5 สัน ผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่อสุกผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอมดำ

ประโยชน์

  1. ใช้เป็นพืชอาหารและสมุนไพร โดยใบใช้กินกับลาบ น้ำพริก หรืออาหารอื่น ๆ
  2. ใช้เป็นส่วนผสมของแป้งหอม ยาสระผมหอมบำรุงผม ธูปหรือเครื่องหอมอื่น ๆ
  3. คนปกาเกอะยอรู้ดีว่าธรรมชาติของสันพร้าหอมจะยิ่งหอมมากขึ้นเมื่อแห้ง จึงนิยมนำมาห่อด้วยใบตองที่ทาด้วยน้ำมันมะพร้าวไว้แล้วนำมาย่างไฟจะทำให้กลิ่นหอมมาก ซึ่งคนปกาเกอะยอจะนิยมนำมาทัดหูหรือนำมาห้อยกับสายสร้อยคล้องคอ นอกจากนี้ยังนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อดึงดูดผีบ้านผีเรือนให้คอยปกป้องรักษาบ้านที่อยู่อาศัยและผู้อาศัย หรือนำมาใช้ห้อยคอเพื่อความเป็นสิริมงคลป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ
  4. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป พ่อค้านิยมนำมาปลูกไว้ในกระถางเพื่อขายเป็นการค้า

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/สันพร้าหอม/