ชื่อ : รากสามสิบ

ชื่อสามัญ : Shatavari

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asparagus racemosus Willd.

ชื่อวงศ์ : ASPARAGACEAE

ชื่อท้องถิ่น : สามร้อยราก (กาญจนบุรี), ผักหนาม (นครราชสีมา), ผักชีช้าง (หนองคาย), จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ), เตอสีเบาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พอควายเมะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชีช้าง, ผักชีช้าง, จั่นดิน, ม้าสามต๋อน, สามสิบ, ว่านรากสามสิบ, ว่านสามสิบ, ว่านสามร้อยราก, สามร้อยผัว, สาวร้อยผัว, ศตาวรี

ลักษณะ

ต้นรากสามสิบจัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนาม (หนามเปลี่ยนมาจากใบเกล็ดบริเวณข้อ) สามารถเลื้อยปีนป่ายต้นไม้อื่นขึ้นไปได้สูงประมาณ 5-4 เมตร แตกแขนงเป็นเถาห่าง ๆ ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีขาวแกมเหลือง เถามีขนาดเล็กเรียว กลม เรียบ ลื่น และเป็นมัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร เถาอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีหนามแหลม หนามมีลักษณะโค้งกลับยาวประมาณ 1-4 มิลลิเมตร
บริเวณข้อมีกิ่งแตกแขนงแบบรอบข้อ และกิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-2.5 มิลลิเมตร ทำหน้าที่แทนใบ
มีเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน ออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวย ลักษณะของรากออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย ลักษณะอวบน้ำ เป็นเส้นกลมยาว มีขนาดโตกว่าเถามาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยอินเดีย ศรีลังกา ชวา จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย พบขึ้นตามป่าในเขตร้อนชื้น ป่าเขตร้อนแห้งแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าโปร่งหรือตามเขาหินปูน

 

ใบรากสามสิบใบเป็นใบเดี่ยว แข็ง ออกรอบข้อเป็นฝอย ๆ เล็กคล้ายหางกระรอก หรือออกเรียงสลับเป็นกระจุก 3-4 ใบ ใบเป็นสีเขียวดก ลักษณะของใบเป็นรูปเข็มขนาดเล็ก ปลายใบแหลม
เป็นรูปเคียวโคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-36 มิลลิเมตร แผ่นมักโค้งสันเป็นสามเหลี่ยม มี 3 สัน มีหนามที่ซอกกระจุกใบ ก้านใบยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร

 

ดอกรากสามสิบออกดอกเป็นช่อกระจะ ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบและข้อเถา ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีประมาณ 12-17 ดอก ก้านดอกย่อยยาว
ประมาณ 2 มิลลิเมตร มีกลีบรวม 6 กลีบ แยกเป็น 2 วง วงนอก 3 กลีบ และวงในอีก 3 กลีบกลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมน ขอบเรียบ กลีบกว้างประมาณ 5-1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีลักษณะบางและย่น โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปดอกเข็มยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นแฉก ดอกมีเกสรผู้เชื่อมและอยู่ตรงข้ามกับกลีบรวม เป็นเส้นเล็ก 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว
อับเรณูเป็นสีน้ำตาลเข้ม รังไข่เป็นรูปไข่กลับ อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุล 2 เมล็ด หรือมากกว่า ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉกขนาดเล็ก
โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

 

ผลรากสามสิบลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม หรือเป็นพู 3 พู ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีม่วงแดง
ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำ เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็งแต่เปราะ ออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม

ประโยชน์

  1. ผลอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำมาทำเป็นแกงลูกสามสิบ
  2. รากนำมาต้ม เชื่อม หรือนำมาแช่อิ่ม ใช้รับประทานเป็นอาหาร กรอบดีมาก (รากสามสิบแช่อิ่ม) หรือนำมาทำเป็นน้ำรากสามสิบ
  3. ทางภาคอีสานจะนำยอดมาลวกรับประทานเป็นผักเคียง ใช้รับประทานสด หรือนำมาผัดส่วนทางภาคใต้จะใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินมาใส่ในแกงส้มและแกงเลียง
  4. รากยังสามารถนำมาทุบหรือขูดกับน้ำ ทำเป็นน้ำสบู่สำหรับซักเสื้อผ้าได้อีกด้วย
  5. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เพาะปลูกโดยใช้เมล็ด เหง้า หรือหน่อ ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ควรปลูกลงในกระถางทรงสูงและใช้ดินร่วนในการปลูก ใส่ดินให้มาก ๆ รดน้ำให้ชุ่ม และควรปลูกไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดรำไรตลอดวัน
  6. ในปัจจุบันบ้านเราได้มีการนำสมุนไพรรากสามสิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรากสามสิบออกมาจำหน่ายหลายรูปแบบ ส่วนในต่างประเทศอย่างอินเดียจะใช้สมุนไพรชนิดนี้มากเป็นพิเศษ (เป็นอันดับ 2 รองจากมะขามป้อม) โดยการนำสารสกัดด้วยน้ำของรากสามสิบไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาในลักษณะเป็น dietary supplement ที่สามารถขายได้ทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/รากสามสิบ/