ชื่อ : พญายอ หรือ เสลดพังพอนตัวเมีย
ชื่อสามัญ : Snake Plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau
ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE
ชื่อท้องถิ่น : ลิ้นมังกร ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่), พญาปล้องคำ (ลำปาง), เสลดพังพอนตัวเมีย (พิษณุโลก), พญาปล้องดำ พญาปล้องทอง (ภาคกลาง), ลิ้นงูเห่า พญายอ (ทั่วไป), โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชิงเจี้ยน หนิ่วซิ้วฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะ
ต้นเสลดพังพอนตัวเมียจัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา มักเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น ๆ มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยง ต้นอ่อนเป็นสีเขียว ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นปล้องสีเขียว
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกเหง้าแขนงไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
ในประเทศไทยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศ หรือพบปลูกกันตามบ้านทั่วไป
ใบเสลดพังพอนตัวเมียใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร
และยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ
ดอกเสลดพังพอนตัวเมียออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก
คือ ปากล่างและปากบน ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนกลีบรองกลีบดอกนั้นเป็นสีเขียว ยาวเท่า ๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียว ๆ อยู่โดยรอบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยงไม่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม (แต่มักจะไม่ค่อยออกดอก)ผลเสลดพังพอนตัวเมียผลเป็นผลแห้งและแตกได้ (แต่ผลไม่เคยติดเป็นฝักในประเทศไทย) ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวรี
ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด
ประโยชน์
- ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมาใช้บริโภคได้ โดยนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงแค
- ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้มีการผลิตครีมจากสมุนไพรชนิดนี้สำหรับรักษาและบรรเทาโรคเริมและงูสวัดใช้กันแล้ว โดยแบบครีมจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 4-5 แบบโลชั่นจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 25 ส่วนแบบสารละลายสำหรับป้ายปากจะมีสารสกัดเสลดพังพอนตัวเมียในกลีเซอรีน ร้อยละ 2.5-4
แหล่งอ้างอิง
medthai.com/เสลดพังพอนตัวเมีย/