ชื่อ : ตะขาบบิน
ชื่อสามัญ –
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muehlenbeckia platyclada (F.v.Muell.) Meissn.
ชื่อวงศ์ : Polygonaceae
ชื่อท้องถิ่น : ตะขาบหิน ตะขาบปีนกล้วย (กลาง) เพว เฟอ (กรุงเทพมหานคร) ว่านตะขาบ (เชียงใหม่)ว่านตะเข็บ (เหนือ) ผักเปลว ตะขาบทะยานฟ้า
ลักษณะ
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 1-2 เมตร ลำต้นแบน เป็นข้อๆ สีเขียว ตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก ต้นแก่โคนต้นเป็นสีน้ำตาล ต้นอ่อนสีเขียว แบนเรียบ กว้างราวครึ่งนิ้ว เป็นปล้องๆ พอลำต้นแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และกลมขึ้น
ใบเป็นใบเดี่ยว มีขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายลำต้น มีใบน้อย หรือไม่มีเลย ใบเรียงสลับ ร่วงง่าย รูปใบหอกแกมเส้นตรง กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ หลังใบ และท้องใบเรียบ
ขอบใบเรียบ เนื้อใบอ่อนนิ่ม ไม่มีก้านใบ ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ออกเป็นกระจุกเล็กๆ ที่บริเวณข้อ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละต้นกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็กมาก กลีบรวมสีขาวแกมเขียว มี 5 กลีบ รูปไข่ ก้านดอกสั้น
โคนกลีบดอกติดกัน ก้านชูดอกสั้นมาก เกสรตัวผู้ 7-8 อัน ผลสด มีเนื้อ ฉ่ำน้ำ รูปค่อนข้างกลม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกสีแดง มีรสหวาน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เมล็ดเดี่ยว สีเหลือง เป็นสัน 3 สัน
ประโยชน์
ตำรายาไทย ใช้ ทั้งต้น มีรสหวานสุขุม มีสรรพคุณแก้ร้อนใน ดับพิษต่างๆ พิษเลือด พิษร้อน พิษฝี แก้ฝีในปอด แก้ไอเนื่องจากปอด แก้เจ็บคอ เจ็บอก ใช้ภายนอกระงับปวด แก้โรคผิวหนังเจ็บ ผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย งูสวัด
ฝีตะมอย ต้นและใบสด ตำผสมเหล้า พอกหรือคั้นน้ำทา ถอนพิษแมงป่องและตะขาบ แก้ฟกบวม เคล็ดขัดยอก ใบตำผสมเหล้าขาว คั้นน้ำหยอดหูแก้หูน้ำหนวก
แหล่งอ้างอิง
phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=46