ชื่อ : ขมิ้นอ้อย

ชื่อสามัญ : Zedoary, Luya-Luyahan

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe

ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE

ชื่อท้องถิ่น : สากเบือ (ละว้า), ขมิ้นขึ้น (ภาคเหนือ), ว่านเหลือง (ภาคกลาง), ละเมียด (เขมร), ว่านขมิ้นอ้อย, ขมิ้นเจดีย์, หมิ้นหัวขึ้น, สากกะเบือ, เผิงเอ๋อซู๋
(จีนกลาง)

 

ลักษณะ

ต้นขมิ้นอ้อยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากเล็กน้อยที่บริเวณเหง้า มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับขมิ้นชันแต่มีลำต้นที่สูงกว่า ขนาดเหง้าและใบใหญ่กว่า
โดยต้นขมิ้นอ้อยจะมีความสูงประมาณ 1-1.2 เมตร เหง้ามักโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย เหมือนเจดีย์ทรงกลมสูงหลายชั้น ๆ (บ้างเรียกว่าขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นเจดีย์) ลักษณะของเหง้ามีลักษณะเป็นรูปกลมรี
มีความยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-11 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีขาวอมเหลือง ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลืองอ่อน บ้างว่าเป็นสีเหลืองเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้านำมาปลูก และควรจะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม ย่างเข้าฤดูฝน ไม่ควรให้น้ำท่วมขังเพราะจะทำให้เหง้าขมิ้นอ้อยเน่าเสียได้ โดยขมิ้นอ้อยจะงอกงามในช่วงฤดูฝนและจะมีต้นโทรมหัวใหญ่ในช่วงฤดูหนาว

 

ใบขมิ้นอ้อยใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแคบ ผิวใบนูนตามลายของเส้นใบ เส้นกลางใบเป็นร่องเล็กน้อย ผิวด้านหน้าเรียบ
ส่วนทางด้านท้องใบจะมีขนนิ่มเล็กน้อย ก้านใบเป็นกาบหุ้มกับลำต้น มีความยาวเป็น 1 ใน 3 ของใบ กลางก้านเป็นร่องลึกตลอดความยาว ในหน้าแล้งกาบใบจะแห้งลงหัวแล้วเหง้าจะโผล่ขึ้นมา
(จนบางครั้งเราก็เรียกกันว่าขมิ้นหัวขึ้น)

 

ดอกขมิ้นอ้อยออกดอกเป็นช่อ ก้านดอกจะยาวและพุ่งออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ช่อดอกมีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ช่อดอกมีใบประดับ และดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน
กลีบดอกมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่สีเขียว ตรงปลายของช่อดอกจะเป็นสีชมพูหรือสีแดงอ่อน ส่วนดอกสีเหลืองจะบานจากล่างขึ้นบน และจะบานครั้งละประมาณ 2-3 ดอก

 

ผลขมิ้นอ้อยผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีกลิ่นฉุนน้อยกว่าผลของขมิ้นชัน (ผล)

 

ประโยชน์

  1. เหง้าขมิ้นอ้อยมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ช่วยกระจายโลหิต รักษาอาการเลือดคั่ง หรือเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เส้นเลือดในท้องอุดตัน (เหง้า)
  2. ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ แก้พิษโลหิต ใช้เป็นเป็นยาชำระโลหิต (เหง้า)
  3. ช่วยลดความดันโลหิต (เหง้า)
  4. ในเหง้าหรือในหัวสดของขมิ้นอ้อย มีสารหอมชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์เป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)
  5. ช่วยแก้อาการหืดหอบหายใจไม่เป็นปกติ (เหง้า)
  6. เหง้าสดนำมาตำผสมกับการบูรเล็กน้อย นำมาดอง (ไม่แน่ใจว่าดองหรือผสม) กับน้ำฝนกลางหาว ใช้รินเอาแต่น้ำเป็นยาหยอดตา แก้อาการตาแดง ตามัว ตาแฉะ และตาพิการ (เหง้าสด)
  7. ตำรายาไทยใช้เหง้าเป็นยาแก้ไข้ (เหง้า) ช่วยแก้ไข้ทั้งปวง (เหง้า)
  8. ใช้รักษาอาการหวัด ด้วยการใช้หัวขมิ้นอ้อย อบเชยเทศ และพริกหาง นำมาต้มแล้วเติมน้ำผึ้งใช้รับประทานเป็นยาแก้หวัด (เหง้า)
  9. ช่วยแก้อาเจียน (เหง้า)
  10. ช่วยแก้เสมหะ (เหง้า)
  11. เหง้าใช้เป็นยาแก้ลม (เหง้า)
  12. ขมิ้นอ้อยมีฤทธิ์กระตุ้นกระเพาะและลำไส้ให้เกิดการบีบตัว จึงช่วยในการขับลม ช่วยแก้อาการจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยในการย่อยอาหาร แก้อาการปวดท้อง และแก้อาการปวดลำไส้ได้ (เหง้า)
  13. เหง้าใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) เหง้าสดประมาณ 2 แว่น เมื่อนำมาบดผสมกับน้ำปูนใส สามารถนำมาใช้ดื่มเป็นยารักษาอาการท้องร่วงได้ (เหง้าสด)
  14. เหง้านำมาหั่นเป็นแว่น ๆ จะใช้สดหรือตากแห้งก็ได้ โดยนำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่มแก้โรคกระเพาะ (เหง้า)
  15. ช่วยสมานลำไส้ (เหง้า)
  16. น้ำคั้นจากใบของต้นขมิ้นอ้อย ใช้เป็นยาแก้ท้องมาน โดยขับออกทางปัสสาวะ (ใบ)
  17. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อย พริกไทยล่อน และเปลือกยางแดง นำมาผสมกันทำเป็นยาผง แล้วนำไปละลายในน้ำยางใส ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วชี้ ใช้กินเช้าและเย็น (เหง้า)
  18. เหง้าและใบมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เหง้า, ใบ)
  19. ช่วยแก้หนองใน (เหง้า)
  20. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้เหง้าหนักประมาณ 12 กรัม, ขมิ้นชัน 10 กรัม, คำฝอย 6 กรัม, ฝางเสน 8 กรัม, เม็ดลูกท้อ 8 กรัม, หง่วงโอ้ว 8 กรัม และโกฐเชียง 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ดองกับเหง้าเป็นยารับประทาน (เหง้า)
  21. ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี (เหง้า)
  22. ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี (เหง้า)
  23. เหง้าใช้เป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี (เหง้า)
  24. ช่วยรักษาซีสต์ในรังไข่ของสตรี (เหง้า)
  25. ช่วยแก้อาการตับและม้ามโต (เหง้า)
  26. แก้หัดหลบใน ด้วยการใช้เหง้า 5 แว่น และต้นต่อไส้ 1 กำมือ นำมาต้มรวมกับน้ำปูนใสพอสมควร แล้วนำมาใช้ดื่มเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา (เหง้า)
  27. เหง้าใช้เป็นยาสมานแผล (เหง้า)
  28. เหง้านำมาหุงกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาใส่แผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากหัวหรือเหง้าของขมิ้นอ้อยนั้นมีรสฝาด (สาร Tannin) อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำบวมได้อีกด้วย (เหง้า)
  29. เหง้าใช้เป็นยาภายนอก ช่วยรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ ฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แก้กลากเกลื้อน แก้ผิวหนังอักเสบ (เหง้า)
  30. ใช้เป็นยารักษาฝี ฝีหนองบวม ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อยสด, ต้นและเมล็ดของเหงือกปลาหมอ อย่างละเท่ากันมากน้อยตามต้องการ นำมาตำรวมกันจนละเอียดแล้วใช้พอกเช้าเย็น หรือหากเป็นฝีหัวเดือน ให้นำใบไผ่เผาไฟให้ไหม้ ส่วนหัวขมิ้นอ้อยนั้น ให้เอามาตำด้วยกัน แล้วใช้น้ำเป็นกระสายยา สามารถใช้ได้ทั้งกิน ทาหรือพอก (เหง้า)

 

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/ขมิ้นอ้อย/