ชื่อ : การบรู
ชื่อสามัญ : Camphor, Gum camphor, Formosan camphor, Laurel camphor
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum camphora (L.) J.Presl
ชื่อวงศ์ : LAURACEAE
ชื่อท้องถิ่น : การะบูน การบูร (ภาคกลาง), อบเชยญวน (ไทย), พรมเส็ง (เงี้ยว), เจียโล่ (จีนแต้จิ๋ว), จางมู่ จางหน่าว (จีนกลาง)
ลักษณะ
ต้นการบูรเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาไมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ ส่วนเปลือกกิ่งเป็นสีเขียวหรือเป็นสีน้ำตาลอ่อน
ลำต้นและกิ่งเรียบไม่มีขน ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ “การบูร” ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ส่วนที่ของรากและโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ
ใบการบูรใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5.5-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างเหนียว หลังใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็นเส้น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ที่ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมกันอยู่ โดยเกล็ดชั้นนอกจะเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ และเมื่อนำใบมาขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร
ดอกการบูรออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมสีเหลืองหรืออมสีเขียว ก้านดอกย่อยมีขนาดสั้นมาก ดอกรวมมีกลีบ 6 กลีบ เรียงเป็นวง 2 วง วงละ 3 กลีบ
ลักษณะเป็นรูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ส่วนด้านในมีขนละเอียด ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 ก้าน เรียงเป็นวง 3 วง วงละ 3 ก้าน ส่วนอับเรณูของวงที่1 และ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ที่ก้านเกสรมีขน ส่วนวงที่ 3 จะหันหน้าออกทางด้านนอก ที่ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อม อยู่ใกล้กับก้าน ลักษณะของต่อมเป็นรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูจะมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงกันเป็นแถว 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง ส่วนเกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 ก้าน อยู่ด้านในสุด ลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีแต่ขนและไม่มีต่อม ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียมีลักษณะกลม ส่วนใบประดับมีลักษณะเรียวยาว
ร่วงได้ง่าย และมีขนอ่อนนุ่ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
ผลการบูรผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลม และเป็นผลแบบมีเนื้อ ผลเป็นสีเขียวเข้มมีขนาดยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล
ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
การบูรคือผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งต้น โดยมักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ และมีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาคือส่วนแก่นของต้น ซึ่งส่วนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนที่อยู่เหนือขึ้นมา ส่วนในใบและยอดอ่อนมีการบูรอยู่น้อย โดยในใบอ่อนจะมีน้อยกว่าใบแก่ ซึ่งผงการบูรนั้นจะมีลักษณะเป็นเกล็ดกลม ๆ ขนาดเล็ก เป็นสีขาวและแห้ง อาจจับกันเป็นก้อนร่วน ๆ และแตกง่าย
เมื่อทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด โดยจะมีรสปร่าเมา
ประโยชน์
- น้ำมันการบูรจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจโล่งและปลอดโปร่ง ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและทำให้ตื่นตัว ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ
- ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่
- ช่วยแก้รอยผิวหนังแตกในช่วงฤดูหนาว
- กิ่งก้านและใบสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนมได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ ไส้กรอก เบคอน ข้าวหมกไก่ ลูกกวาด แยม เยลลี่ เครื่องดื่มโคคาโคลา เหล้า หรือใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องพะโล้ เครื่องแกงมัสมั่น ผงกะหรี่ คุกกี้ ขนมเค้ก ฯลฯ ใช้แต่งกลิ่นยาและใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทผักดอง ซอส เป็นต้น
- การบูรเมื่อนำมาวางในห้องหรือตู้เสื้อผ้าจะสามารถช่วยไล่ยุงและแมลง และยังนำมาผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้าได้อีกด้วย
- ใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมต่าง ๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาประสะไพล ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยามันทธาตุ ยาไฟประลัยกัลป์ ยาประสะเจตพังคี ยาธรณีสัณฑะฆาต ยาธาตุอบเชย หรือนำมาใช้ทำน้ำมันไพล ลูกประคบ พิมเสนน้ำ
แหล่งอ้างอิง
medthai.com/การบูร/