ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias pinnata (L.f.) Kurz
ชื่อเรียกอื่น : กอก กอกเขา กูก มะกอก
ชื่อวงศ์ : AMACARDIACEAE
ลักษณะ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10- 15 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมกว้าง ค่อนข้างโปร่ง เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับที่ปลายกิ่ง แกนกลาง ใบประกอบยาว 20-30 ซม. ใบย่อย 4-6 คู่ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. ปลายใบติ่งแหลม โคนใบสอบ เบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้มเรียบเกลี้ยงใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 20-30 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่แคบ ปลายแหลมโค้ง เกสรเพศผู้สีเหลืองเป็นกระจุก 8-10 อัน เส้นผ่าน ศูนย์กลางดอก 0.3-0.5 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมหรือรูปไข่ กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 3-4.5 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลือง มีเนื้อและชั้นหุ้มเมล็ด แข็งรูปไข่ ผิวเป็นเสี้ยนขรุขระ ซึ่งภายในมีแกนเป็นรูปดาว เมล็ดรูปรี สีน้ำตาล ติดผลเดือน เม.ย.-มิ.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง
การกระจายพันธุ์ : พบตามที่ราบชายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณและป่าทุ่ง
ช่วงเวลาการออกดอก : เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน
ประโยชน์ :
1. ผลดิบ และผลสุกมีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม ใช้ปรุงรสอาหาร ได้แก่
– ผลดิบ และผลสุกใช้แทนมะนาวทำส้มตำ ส้มตำที่ใส่มะกอกจะมีรสเปรี้ยวธรรมชาติ ไม่เปรี้ยวจัด เกิดรสหวานเล็กน้อย ผลดิบจะใส่ประมาณ 2 ลูก โดยฝานเฉพาะเปลือก และเนื้อใส่ ส่วนมะกอกสุกใช้เพียง 1 ลูก ก็เพียงพอ แต่คนชอบเปรี้ยวอาจใส่ 2 ลูก จะได้รสเปรี้ยวมากขึ้น ทั้งนี้ เมล็ดที่ฝาเปลือก และเนื้อใส่แล้ว อาจใส่ลงในครกตำผสมก็ได้เช่นกัน ส่วนรสเปรี้ยว และความอร่อยของมะกอกจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล มะกอกที่ออกในช่วงต้นฝนหรือมะกอกรุ่นแรกๆจะมีความอร่อยกว่ามะกอกที่ออกในช่วงฤดูหนาว
– ผลดิบ และผลสุก ใช้ใส่แทนมะนาวหรือมะขามในอาหารจำพวกต้มยำหรือแกงที่ต้องการรสเปรี้ยว น้ำต้มยำหรือน้ำแกงจะออกสีขาวขุ่น เป็นที่น่ารับประทาน
– เนื้อผลสุกใช้ใส่น้ำพริกหรืออาหารจำพวกยำหรือก้อย เช่น ก้อยกุ้งซึ่งเป็นที่นิยมของคนอีสาน
2. ผลดิบ และผลสุก ใช้รับประทานเป็นผลไม้แทนผลไม้อื่นที่ให้รสเปรี้ยว ทั้งรับประทานแบบจิ้มพริกเกลือหรือจิ้มน้ำปลา โดยผลดิบจะมีรสเปรี้ยวอมฟาด ส่วนผลสุกจะมีรสเปรี้ยว และกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย
3. เนื้อผลสุกผสมน้ำตาล แล้วปั่นเป็นน้ำผลไม้ดื่ม
4. ผลอ่อนที่เมล็ดยังไม่มีเสี้ยน นำมาดอกเป็นมะกอกดอง
5. ยอดอ่อนมีสีแดงรื่อหรือเขียวอมแดง ไม่มีเสี้ยน มีรสเปรี้ยวอมฟาด มีกลิ่นหอม นิยมรับประทานเป็นผักกับน้ำพริก ซุบหน่อไม้ และเมนูลาบต่างๆ
6. รากมะกอกในระยะต้นอ่อนมีลักษณะคล้ายหัวมัน ขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาว มีรสหวาน นิยมขุดมาปอกเปลือกรับประทาน ทั้งนี้ หากขุดในระยะที่ต้นใหญ่จะไม่พบรากดังกล่าว ระยะที่เหมาะสม คือ ต้นมะกอกสูงไม่เกิน 30-60 เซนติเมตร
7. ยางจากต้นที่เกิดจากบาดแผลของด้วงหรือแมลง มีลักษณะเป็นเมือกใสสีแดงอมน้ำตาล สามารถใช้เป็นกาวติดของได้
8. ไม้มะกอก เป็นไม้เนื้ออ่อน แก่นไม่แข็งมาก แปรรูปง่าย ใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับไม้ก่อสร้าง
9. ไม้มะกอกใช้สับเป็นเยื่อไม้สำหรับผลิตกระดาษ
10. เปลือกต้นมะกอกใช้ฟอกย้อมแห ย้อมตาข่าย ยางเหนียว และสารสีช่วยให้แหหรือตาข่ายแข็งแรง ป้องกันสัตว์หรือแมลงกัดแทะ