ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anogeissus acuminata Will. var. Lanceolata Clarke
ชื่อเรียกอื่น : หมากเปียก เบน เหียว แหว เอ็นมอญ เอ็นลื่น
ชื่อวงศ์ : COMBRETACEAE
ลักษณะ : ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้นสูง 15-25 เมตร ลำต้นเปลา ตรง เปลือกสีเทาจนถึงน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป ใบ เป็นใบเดี่ยวติดเรียงสลับ ทรงใบรูปรีแกมรูปหอก โคนใบสอบแคบปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบค่อนข้างบาง ท้องใบและขอบใบมีขนนุ่มยาว ๆ สีเทาอมเหลือง หรือบางทีออกสีเงิน ดอก ออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบ รวมกันเป็นกลุ่มกลมวัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ โคนกลีบรองดอกติดกันเป็นหลอดเรียว ปลายหลอดแผ่กว้างแยกเป็น 5 แฉก ด้านในมีขนยาว ๆ ทั่วไป ไม่มีกลีบดอก เกสรผู้ 10 อัน เรียงตัวเป็น 2 วง ผล เล็กรูปรี มีปีกหรือคีบออกทางด้ายข้าง 2 ปีก ส่วนบนเป็นติ่ง หรือเป็นหางยื่นผลอยู่รวมกันเป็นก้อนกลม วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 มม.
การกระจายพันธุ์ : ตะเคียนหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ชอบเขาหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 750 เมตร
ช่วงเวลาการออกดอก :
ประโยชน์ : ไม้ ใช้ทำด้ามเครื่องมือ ตะลุมพุก ไม้คาน กระดาน เพลา และคานเกวียน ทำโครงเรือ เสากระโดงเรือ เสาโป๊ะ ในประเทศอินเดียและพม่านิยมใช้ไม้ชนิดนี้ทำด้ามเครื่องมือแทนไม้ Ash และไม้ Hickory ทางยา ใช้ผสมยารักษาทางเลือดลม และกษัย ไม้ชนิดนี้เมื่อได้อาบน้ำยาโดยถูกต้องแล้ว สามารถใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ และอื่นๆได้ดี เปลือก ให้น้ำฝาดชนิด Pyrogallol และ Catechol นอกจากนี้ยังใช้ต้มกับเกลือ อมป้องกันฟันหลุด เนื่องจากกินยาเข้าปรอท และใช้ต้มกับน้ำชะล้างบาดแผลเรื้อรัง ดอก อยู่ในจำพวกเกสรร้อยแปด ใช้ผสมยาทิพย์เกสร ยาง ใช้ผสมน้ำมันทารักษาบาดแผล