ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum indicum (L.) Kuntze
ชื่อเรียกอื่น : ปิ้งขม ปิ้งหลวง (เหนือ); พญาเล็งจ้อน, เล็งจ้อนใต้ (เชียงใหม่); พญารากเดียว (ใต้) ไม้เท้าฤาษี (เหนือ ใต้); พมพี (อด); พินพี (เลย); โพพิ่ง (ราชบุรี); หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์); กาซะลอง รดพระธรณี ดอกคาน (ยะลา) ท่าละม่อม เท้ายายม่อมตัวเมีย ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด
ชื่อวงศ์ : Labiatae
ลักษณะ : ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2.5 เมตร เป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียวลึก พุ่งตรง รากกลม ดำ โต ลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขา หรือแตกกิ่งบริเวณใกล้ยอด บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือรอบข้อ ข้อละ 3-5 ใบ จากต้นตรงขึ้นไปจนถึงยอด ใบรูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 12-18 เซนติเมตร เส้นกลางใบงอโค้งเข้าหาลำต้น เกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ดัดใบให้งอตามไปด้วยเมื่อแตกกิ่งใหม่ ปลายและโคนใบแหลม ดอก ช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง เป็นพุ่มกระจาย คล้ายฉัตรเป็นช่อชั้นๆ ตั้งขึ้น กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ขนาดดอกกว้าง 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 10-12 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียว หรือแดง มี 5 แฉก ผล สดรูปทรงกลม แป้น เมื่อสุกมีสีน้ำเงินแกมสีดำ หรือสีดำแดง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ดอกออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก
การกระจายพันธุ์ : ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง
ช่วงเวลาการออกดอก : เมษายนถึงพฤศจิกายน
ประโยชน์ : ราก รสจืดขื่น เป็นตัวยาในพิกัดยาเบญจโลกวิเชียรแก้ไข้ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้ พิษกาฬ ลดความร้อนในร่างกาย กระทุ้งพิษไข้หวัด ไข้เหนือ ขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ ถอนพิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้หืดไอ แก้อาเจียน ดับพิษฝี แก้ไข้เหนือไข้พิษ ไข้กาฬ ตัดไข้จับ แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้พิษงู ราก ใบ แก้หืด ต้น รสจืดเฝื่อน ขับเสมหะให้ลงเบื้องต่ำ ขับพิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนใน
ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ ราก ผสมใบพิมเสนต้น เหง้าว่านกีบแรด เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าวและน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ปั้นเป็นลูกกลอน กินถอนพิษไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่ผิวหนัง ตุ่มอาจมีสีดำ)