ชื่อ : หูเสือ
ชื่อสามัญ : Indian borage, Country borage, Oreille, Oregano
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.
ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE หรือ LABIATAE
ชื่อท้องถิ่น : หอมด่วนหูเสือ หอมด่วนหลวง (ภาคเหนือ), เนียมหูเสือ (ภาคอีสาน), ผักฮ่านใหญ่ (ไทใหญ่), ผักหูเสือ (ไทย), เนียมอีไหลหลึง โฮว้หีเช่า (จีน)
ลักษณะ
ต้นหูเสือ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 2-3 ปี มีความสูงของลำต้นประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ หักได้ง่าย กิ่งและลำต้นค่อนข้างกลม ต้นอ่อนจะมีขนขึ้นอย่างหนาแน่น เมื่อแก่แล้วจะค่อย ๆ
หลุดร่วงไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำยอดหรือต้น ขึ้นได้ในทุกสภาพดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมสมบูรณ์ที่มีอินทรียวัตถุสูง ชอบความชื้นมาก และแสงแดดปานกลาง พบขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป
ตามที่ลุ่มชื้นแฉะทั่วทุกภาคของประเทศ แต่พบได้มากทางภาคเหนือ
ใบหูเสือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ส่วนขอบใบจักเป็นคลื่นมน ๆ รอบ ๆ ใบ
ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก
ก้านใบมีความยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร ใบเมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมฉุน
ดอกหูเสือ ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือยอด ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 6-8 ดอก ดอกจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกย่อยติดกันหนาแน่นเป็นวงรอบแกนผล
เป็นระยะ ๆ และมีขน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วงขาว ลักษณะเป็นรูปเรือ ยาวได้ประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ
กลีบบนสั้น ตั้งตรง และมีขน ส่วนกลีบล่างมีลักษณะยาวและเว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีขน
และมีต่อม ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก แฉกบนเป็นรูปไข่กว้าง ปลายแหลม ส่วนแฉกข้างเป็นรูปหอกแคบ โดยแฉกล่างจะยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ส่วนใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
ปลายแหลม ก้านสั้น
ผลหูเสือ ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นสรน้ำตาลอ่อน เปลือกผลแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร
ประโยชน์
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบทุกชนิด ก้อย แจ่วป่น ซุปหน่อไม้ ซุบมะเขือ ใช้ใส่ในแกงต่าง ๆ ใช้รับประทานสดเป็นผักแกล้มกับอาหารอื่น ๆ ใช้กินกับหมาก รวมทั้งยังนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น เนื่องจากผักหูเสือมีน้ำมันหอมระเหยสูง จึงช่วยย่อยและดับกลิ่นคาวได้ดีมาก
- กลิ่นหอมของใบหูเสือจะคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” (Oregano) ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า หากใครที่ชอบกลิ่นของออริกาโน ก็สามารถนำใบหูเสือมาตากให้แห้งสนิทในที่ร่ม แล้วบดให้ละเอียด เพียงเท่านี้ก็สามารถ
นำมาใช้แทนออริกาโนได้เลย - ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้า สระผมได้
- ใบสามารถนำไปทำเป็นยานัตถุ์ได้ เพราะมีกลิ่นหอม หรือจะนำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง ใช้ดับกลิ่นคาวอาหารก็ได้
- หูเสือ เป็นผักที่มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ดร้อน มีรสเปรี้ยวแทรกอยู่เล็กน้อย ตามบ้านเรือนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะพบหูเสือถูกปลูกอยู่ในกะละมัง แม้ว่าผักหูเสือจะไม่ใช่ผักหรือสมุนไพรที่โดดเด่น แต่แทบทุกบ้านมักจะปลูกไว้เป็นไม้คู่บ้าน โดยชาวบ้านในแถบทางภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ส่วนคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ
แหล่งอ้างอิง
medthai.com/เนียมหูเสือ/