ชื่อ : หนุมานนั่งแท่น
ชื่อสามัญ : Gout Plant, Guatemala Rhubarb, Fiddle-leaved Jatropha
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jatropha podagrica Hook.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่อท้องถิ่น : หัวละมานนั่งแท่น (ประจวบคีรีขันธ์), ว่านเลือด (ภาคกลาง), ว่านหนุมาน, ว่านหนูมานนั่งแท่น
ลักษณะ
ต้นหนุมานนั่งแท่น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลาง พบได้ตั้งแต่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลถึงระดับ 800 เมตร โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-3 เมตร ลำต้นพองที่โคน ลำต้นอวบน้ำผิว
ไม่เรียบ เป็นสีน้ำตาลอมเขียว และมีเหง้าอยู่ใต้ดินลักษณะกลมยาว อาจเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นใส ๆ ไม่เหนียวเหนอะหนะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและใช้หัวหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน เจริญเติบโตได้ดี
ในที่ชุ่มชื้น ชอบแสงแดดจัดแบบเต็มวัน สามารถทนต่อความแล้งได้ดี
ใบหนุมานนั่งแท่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ
ก้านใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ติดแผ่นใบแบบก้นปิด หูใบแตกแขนงยาวได้ถึง 5 มิลลิเมตร
ดอกหนุมานนั่งแท่น ออกดอกเป็นช่อกึ่งช่อเชิงหลั่น ยาวได้ถึง 26 เซนติเมตร แกนช่อดอกยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายยอด มีใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ดอกย่อยเป็นสีแดง
มีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีส้มหรือสีแดง ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 0.6 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร
จานรองดอกเป็นรูปโถ เกสรเพศผู้จะยาวประมาณ 6-8.5 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรเชื่อมกันที่โคน ส่วนดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงจะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร
ก้านชูและก้านชูช่อดอกเป็นสีแดง
ผลหนุมานนั่งแท่น ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปกระสวย ผิวผลเรียบ แบ่งเป็นพู 3 พู ปลายมน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนจากสีเหลือง
เป็นสีดำเมื่อผลแห้งจะไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร และยาว 12 มิลลิเมตร เมล็ดมีเยื่อสีขาวอยู่ที่ขั้ว
ประโยชน์
สมุนไพรหนุมานนั่งแท่นเป็นยาที่ถูกนำมาใช้รักษาแผลในม้า โดยพบว่าได้ยางหนุมานสามารถรักษาแผลให้หายได้ดีกว่าและเร็วกว่ายาเนกาซันท์ ยาปฏิชีวนะ และยาสมานแผลทั่วไป และยังเป็นยาเพียงชนิดเดียวที่ใช้รักษาบาดแผลเนื้องอกได้ ในขณะที่ยาอื่นรักษาไม่ได้ ส่วนแผลเน่าเปื่อยก็รักษาให้หายได้โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่ายาอื่นเท่าตัว (แม่โจ้)
ในด้านของความเชื่อ ในสมัยก่อนมีการนำมาใช้ในทางคงกระพันชาตรี ด้วยการนำหัวว่านมาแกะเป็นรูปพญาวานร แล้วเสกด้วยคาถาพุทธคุณ “อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ” 3-7 จบ แล้วอมไว้หรือพกติดตัวไว้ จะทำให้ศัตรูแพ้พ่าย ถ้านำมาแกะเป็นรูปพญานาคราช ให้เสกด้วย “เมตตา” 3-7 จบ เมื่อไปเจรจากับผู้ใด จะมีแต่ผู้รักใคร่ ปราถนาสิ่งใดก็สำเร็จทุกประการ ถ้านำมาแกะเป็นรูปพระพรหมแผลงศร ให้เสกด้วยคาถา “อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ” 3-7 จบ ใครจะมาทำร้ายทิ่มแทงเราก็จะล้มทับตัวเอง อาวุธที่มีก็จะพลัดหลุดจามือ จนสุดท้ายต้องหลบหนีไปเอง ถ้านำหัวว่านมาแกะเป็นรูปภควัมบดีปิดหูปิดตา คือปิดทวารทั้งเก้า ให้เสกด้วยคาถา “อิติปิโส ภะคะว่า – ภะคะวาติ” 7 จบ แล้วนำมาอมไว้ในปาก ผู้อื่นจะมองไม่เห็น ทำร้ายไม่ได้ หรือหากต้องการสิ่งใดก็จะสมดัง ปราถนา และถ้านำมาแกะเป็นรูปพระ แล้วเสกด้วยคาถา “อะ อิ อุ ธะ 7 จบ ก็จะช่วยป้องกันอันตรายได้ทั้งปวง”[4]
นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและว่านมงคลชนิดหนึ่งตามบ้านและวัดทั่วไป นิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้หัวหรือเหง้า โดยนำดินร่วนปนทรายปนกับผงอิฐดินเผาทุบให้แหลกละเอียด ตากน้ำค้างทิ้งไว้หนึ่งคืน ผสมใบพืชตระกูลถั่ว หญ้าสับ วางหัวว่านไม่ต้องกลบดินจนมิด (ให้หัวโผล่ และให้แสงแดดรำไร) ตอนจะรดน้ำให้ว่าคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ และถ้าจะให้ดีควรปลูกในวันพฤหัสบดีข้างขึ้น เวลานำไปใช้ให้บอกกับต้นไม้ด้วยว่าจะใช้รักษาอะไร เช่น “ขอยารักษาแผลหน่อยนะ” แล้วน้ำยางจะไหลออกมามาก[4] ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งระบุว่าถ้าจะขุดหัวว่านมาใช้ ให้เสกด้วยคาถา “สัพพาสี – ภาณามเห” 3 หรือ 7 จบ รดน้ำรอบต้นแล้วขุด ในขณะที่ขุดให้เสกด้วยคาถา “หะนุมานะ โสธาระ” ซึ่งเป็นคาถาผูกอีก 3 หรือ 7 จบ จึงเก็บหัวว่านมาใช้ และตอนนำมาใช้ก็ต้องเสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบก่อนทุกครั้ง เชื่อว่าจะมีอานุภาพฟันแทงไม่เข้า
แหล่งอ้างอิงmedthai.com/หนุมานนั่งแท่น/