ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia citrina (Gaertn.) Roxb. ex Flem.
ชื่อเรียกอื่น : สมอหมึก สมอเหลี่ยม
ชื่อวงศ์ : COMBRETACEAE
ลักษณะ : ไม้ต้น สูง 20-30 ม. ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามหรือกิ่งตรงข้าม รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง2-6 ซม. ยาว 3-14 ซม. ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.5-2.5 ซม. มีต่อม 1-2 คู่ ใกล้โคนใบ ดอก ออกเป็นช่อแกน ยาว 2-6 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้าน กลีบรองดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ ด้านในมีขนแน่น ไม่มีกลีบดอก เกสรผู้ 10 อัน ผล เป็นผลสด รูปกลมรี ผิวเกลี้ยง มีสันตื้นๆ 5 สัน กว้าง 0.8-2 ซม. ยาว 2-3 ซม. เมื่อสุกสีม่วงแกมเขียว เมื่อแห้งสีดำ เห็นสันชัดเจน เมล็ดรูปรี กว้าง 0.6 ซม. ยาว 1.7 ซม. ผิวขรุขระ มี 5 สัน
การกระจายพันธุ์ : จากอินเดียถึงอินโดนีเซีย พบขึ้นทั่วไปในป่าที่ราบบริเวณชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ติดผลช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน

ช่วงเวลาการออกดอก : มิถุนายน-กรกฎาคม

ประโยชน์ :  ผล แก้พิษดี พิษโลหิต แก้ไอ ขับโลหิตระดูสตรี ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะและโลหิต แก้เจ็บคอ ถ่ายอุจจาระธาตุ ระบายอุจจาระแรงกว่าสมอชนิดอื่นมาก ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง เป็นยาฝาดสมาน รักษาโรคท้องร่วงอย่างแรง
           ตำรับยาสมุนไพรล้านนา: “ยารักษาโรคตะคริว”  ที่ไม่มีไข้และไม่รู้สึกหนาว ให้เอาสมอดีงู และสมุนไพรอื่นอีก 3 ชนิด อย่างละเท่าๆกัน ใช้กินและทา