ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus alatus Roxb.
ชื่อเรียกอื่น : กาตีล ขะยาง จะเตียล จ้อง ชันนา ทองหลัก ยาง ยางกุง ยางขาว ยางควาย ยางใต้ ยางเนิน ยางแม่น้ำ ยางหยวก เยียง ร่าลอย เห่ง ยางตัง
ชื่อวงศ์ : DIPTEROCARPACEAE
ลักษณะ : เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงถึง 40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทาปนขาว โคนต้นมักเป็นพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน และมีรอยแผลใบเห็นชัด ใบ เป็นใบเดี่ยว ติดเรียงเวียนสลับ ทรงใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 8-15 ซม. ยาว 20-35 ซม. โคนใบมนกว้าง ปลายใบสอบทู่ เนื้อใบหนา ใบอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 3-4 ซม. มีขนประปราย ดอก สีชมพู ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบตอนปลาย กิ่งช่อหนึ่งมีหลายดอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายถ้วยแยกเป็น 5 แฉก ยาว 2 แฉก และสั้น 3 แฉก มีขนสั้นๆ สีน้ำตาลปกคลุม กลีบดอก มี 5 กลีบ โคนกลีบชิดกัน ส่วนปลายจะบิดเวียน ผล เป็นผลชนิดแห้ง รูปกระสวย มีครีบตามยาว 5 ครีบ มีปีกยาว 2 ปีก ขนาด 10-12 ซม. เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น
การกระจายพันธุ์ : พบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่ราบริมห้วยในป่าพื้นล่างทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-400 เมตร
ช่วงเวลาการออกดอก :
ประโยชน์ :
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร :
- น้ำต้มจากเปลือกเป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ และใช้ทาถูนวดขณะร้อน ๆ เป็นยาแก้ปวดตามข้อ
- น้ำมันยางใช้ผสมกับเมล็ดกุยช่าย นำมาคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้เป็นยาอุดฟันแก้ฟันผุ
- เมล็ดและใบมีรสฝาดร้อน นำมาต้มใส่เกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน
- ใช้น้ำมันยาง 1 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์กิน 2 ส่วน แล้วนำมารับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี หรือใช้จิบเป็นยาขับเสมหะก็ได้
- ใบและยางมีรสฝาดขมร้อน ใช้รับประทานกินเป็นยาขับเลือด ตัดลูก
- น้ำมันยางดิบมีรสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ
- น้ำมันยางจากต้นมีรสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล ห้ามหนอง ใช้เป็นยาทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน